อาจารย์สมศักดิ์ อินทร์เผือกเป็นผู้คิดค้นชุดการฝึกมิราเคิลไทชิ 16 ท่า และฝึกสอนไทชิ ให้กับกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยเรื่อง ผลของการฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์โดยเน้นการหายใจที่มีต่อสุขสมรรถนะทางกายใน หญิงสูงอายุ (EFFECTS OF MODIFIED MIRACLE TAI CHI TRAINING ON ANTIOXIDANT PROTECTION STATUS AND HEALTH-RELATED PHYSICAL FITNESS IN ELDERLY WOMEN) เมื่อปี พ.ศ 2554
หากท่านต้องการทราบในรายละเอียดงานวิจัยฉบับนี้ อย่างละเอียด กรุณาคลิ๊ก ที่นี้
โครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ชื่อเรื่อง  (ภาษาไทย)  ผลของการฝึกมิราเคิลไทชิที่มีต่อระดับการต้านอนุมูลอิสระ และสุขสมรรถนะในหญิงสูงอายุ
          (ภาษาอังกฤษ)  EFFECTS OF MIRACLE TAI CHI TRAINING ON ANTIOXIDANT STATUS AND HEALTH-RELATED PHYSICAL FITNESS IN ELDERLY WOMEN
ชื่อผู้วิจัย                              
หัวหน้าโครงการ           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถกร   ปาละสุวรรณ
                                       ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก  คณะสหเวชศาสตร์    
ผู้ร่วมวิจัย                     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดรุณวรรณ สุขสม                       
                                       กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์
                                       คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                       รองศาสตราจารย์ สุพรรณ  สุขอรุณ                
                                       หน่วยวิจัยทางจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก 
                                       คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                       อาจารย์ ดร. ดวงดาว  นันทโกมล                    
                                       หน่วยวิจัยทางจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก 
                                       คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                       นางสาวฉัตรดาว  อนุกูลประชา
                                       นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาสรีรวิทยาการกีฬา                  
                                       คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
วัตถุประสงค์ของการวิจัย               
เพื่อศึกษาผลของการฝึกมิราเคิลไทชิที่มีต่อระดับการต้านอนุมูลอิสระในเลือด และสุขสมรรถนะในหญิงสูงอายุ                      
คำสำคัญ                              
ไทชิ  การต้านอนุมูลอิสระ สุขสมรรถนะ  สมรรถภาพการทำงานของปอด ผู้สูงอายุ (Tai Chi, antioxidant status, health-related physical fitness, lung function, elderly)
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
               ปัจจุบันกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นเนื่องจากประชากรโลกมี อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดทั่วโลกลดลง  ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกได้คาดประมาณว่า ในปี ค.ศ.2025 โลกจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 800 ล้านคน  และ 2 ใน 3เป็นประชากรที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (องค์การอนามัยโลก, 2002)
             ผู้สูงอายุต้องพบกับปัญหาการเสื่อมของร่างกาย  โดยร่างกายมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายในทุกๆ ด้าน เป็นผลมาจากความเสื่อมตามอายุ โดยการเสื่อมของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป หรือแม้แต่บุคคลเดียวกันขบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบอวัยวะแต่ละอย่างก็จะแตก ต่างกันไป   ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของ ผู้สูงอายุแต่ละ คนแตกต่างกันไปตามระดับสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุ  และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิต (Quality of life) ของผู้สูงอายุลดลง (สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2553) ปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือการหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บ จากสาเหตุภายนอกเกิดจากการพลัดตกหกล้มถึงร้อยละ 40.4 (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2552) และพบว่าจำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการหกล้มจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุที่ เพิ่มขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมาจากการสูญเสียการ ทรงตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากการเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้สูงอายุ เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เป็นต้น และอีกปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คือ การเสื่อมสมรรถภาพของระบบหายใจ ทำให้ผู้สูงอายุ  มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยง่าย และมีความทนทานในการทำงานลดลง เป็นการแสดงถึงการลดลงของความสามารถในการทำงานของอวัยวะ  และโครงสร้างของระบบหายใจ ซึ่งปอดเป็นหนึ่งในอวัยวะของระบบหายใจ พบว่าผู้สูงอายุมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการหด-ขยายตัวของปอดลด ลง พื้นที่แลกเปลี่ยนแก๊สของถุงลมปอดลดลง เป็นผลให้มีความจุปอดลดลงไปด้วย (สมนึก กุลสถิตพร, 2549)
        นอกจากความเสื่อมทางสมรรถภาพทางร่างกาย แล้ว  ผู้สูงอายุยังมีความเสื่อมในระดับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลในการ กำจัดอนุมูลอิสระต่างๆ (reactive free radicals) ที่เข้ามาสู่ร่างกาย ซึ่งอาจจะชักนำให้เกิดการมีอนุมูลอิสระมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดได้ ส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระเกินสมดุลหรือเรียกว่าเกิดภาวะออกซิเดทีฟสเตรส (oxidative stress) (Harman, 1956) ภาวะออกซิเดทีฟสเตรสที่เกิดจากปัจจัยของวัยชรา (age-induced oxidative stress) จะส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระไปจับกับโมเลกุลของกรดนิวคลีอิค โปรตีน และไขมันในเซลล์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพ และตายลงก่อนวัยอันควร (Finkel and Holbrook 2000) หากเกิดกระบวนการเหล่านี้เป็นจำนวนมากก็อาจจะชักนำให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็ง เป็นต้น (Jenner, 1994; Knight, 1995)
               การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุจะต้องให้ความหนัก ความเหนื่อยที่เพียงพอใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ การออกกำลังกายไม่ควรหักโหม หรือทำด้วยความรุนแรง และไม่เน้นการแข็งขัน ควรมีการลงน้ำหนักและให้กล้ามเนื้อได้ออกแรง (บรรลุ  ศิริพานิช, 2541)
     ไท ชิ (Tai Chi) เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่นำการฝึกลมปราณและสมาธิมารวมกัน เป็นรูปแบบการบำบัดทางร่างกายและจิตใจที่เรียกว่า &ldquomind-body therapy&rdquo  มีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่าไทชิช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพปรับสภาวะทางจิตใจ ลดความเครียด ชะลอความแก่ และเพิ่มการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด (Wang et al, 2004) ไทชิเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ประหยัด และไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษใดๆและแม้ไทชิจะเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มี ความเร็วในการเคลื่อนไหวต่ำ(low velocity) แต่มีระดับความหนักในการใช้พลังงานเทียบเท่ากับการออกกำลังกาย แบบแอโรบิกในระดับปานกลาง (moderate intensity) (Lan et al, 2008) ซึ่งน่าจะส่งผลกระตุ้นต่อการเมทาบอลิสมต่างๆในร่างกายเช่นเดียวกับการออก กำลังกายแอโรบิกแบบอื่นและอีกทั้งไทชิเป็นการออกกำลังกายแบบไร้แรงกระแทก นุ่มนวล และปลอดภัย ไทชิจึงน่าจะเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการส่ง เสริมเมทาบอลิสมในร่างกาย การไหลเวียนของกระแสเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
                 มิราเคิล ไทชิ (Miracle Tai Chi) หรือ การฝึกไทชิโดยเน้นการหายใจ ที่คิดค้นโดย อาจารย์ สมศักดิ์  อินทร์เผือก ได้นำเอาการออกกำลังกายแบบไทชิเดิมที่มักเน้นในด้านท่าทางการเคลื่อนไหว มากกว่าการกำหนดลมหายใจ และมีจำนวนท่าที่มากมายยากต่อการจดจำในผู้สูงอายุ มาปรับโดยการลดจำนวนท่าลงเหลือ 16 ท่าและเพิ่มการกำหนดลมหายใจที่ช้าและลึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการหายใจด้วยท้องเพื่อให้หน้าท้อง  และทรวงอกเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการทำงานประสานกันระหว่างการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่จะดันอวัยวะ ภายในช่องท้องลงไปด้านล่างและมีการยกขึ้นของกระดูกซี่โครง ซึ่งจะช่วยให้ปอดขยายตัวได้มากขึ้น  นอกจากนี้ยังใช้ดนตรีช่วยในการกำหนดอัตราการหายใจ เฉลี่ย 6 ครั้งต่อนาที สอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่าการหายใจช้าและลึก ในอัตราเฉลี่ย 6 ครั้งต่อนาที  จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจและพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันเลือดเนื่องจากสามารถช่วยส่งเสริมการทำงานของปอดและกระบังลมให้ เคลื่อนไหวได้สอดคล้องกับการทำงานของหัวใจ (Bernardi et al, 2002) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยที่รายงานผลของการฝึกไทชิดังกล่าวที่ส่งผลต่อภาวะการต้าน อนุมูลอิสระ และสุขสมรรถนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลของการฝึกมิราเคิลไทชิต่อระดับการต้าน อนุมูลอิสระและสารชีวเคมีที่เกี่ยวข้องในเลือด และศึกษาผลของการฝึกมิราเคิลไทชิว่าจะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของปอด (lung function) ประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนในการหายใจ (oxygen uptake) และการทรงตัว (balance) ในผู้สูงอายุได้หรือไม่ อย่างไร โดยคณะผู้วิจัยคาดว่าการฝึกมิราเคิลไทชิจะช่วยเสริมสร้างสุขสมรรถนะและ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
 
วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครผู้สูงอายุเพศหญิง อายุระหว่าง 60-69 ปี จำนวน 40 คน สุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม จำนวน 12 คน กลุ่มฝึกไทชิ จำนวน 15 คน และกลุ่มฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์ จำนวน 13 คน กลุ่มตัวอย่างทุกคนได้รับการทดสอบสุขสมรรถนะก่อนการทดลองและหลังการทดลอง เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของตัวแปรระหว่างก่อนและหลังการทดลองโดยการทดสอบค่าทีแบบรายคู่ และเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรระหว่างกลุ่มทดลองโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
โดยกลุ่มฝึกไทชิ และกลุ่มฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์ ฝึกออกกำลังกายเป็นเวลา 12 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา ส่วนกลุ่มควบคุมใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยกลุ่มกลุ่มฝึกไทชิ ใช้ท่ากายบริหารลมปราณ 18 ท่า 2 ชุด ฝึกเวลา 09.00-10.00 น. มีอาจารย์สุพรรณี เลิศเกียรติมงคล ผู้มีประสบการณ์ในการฝึกกายบริหารลมปราณมาเป็นเวลา 10 ปี เป็นผู้ฝึกสอน และกลุ่มฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์ ฝึกเวลา 10.30-11.30 น. มีอาจารย์สมศักดิ์ อินทร์เผือก ผู้คิดค้นมิราเคิลไทชิเป็นผู้ฝึกสอน
 
ผลการวิจัย ภายหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มฝึกไทชิมีค่าเฉลี่ยของความจุปอด การทรงตัวขณะอยู่กับที่บนพื้นเรียบเปิดตาสูงขึ้นจากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนกลุ่มฝึก มิราเคิลไทชิประยุกต์มีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ไขมันลดลง แต่มีมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของต้นแขนด้านหลัง ความแข็งแรงของต้นขาด้านหน้า ความแข็งแรงของต้นขาด้านหลัง การทรงตัวบนพื้นยืดหยุ่น ปริมาตรหายใจออกใน 1 วินาที สมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05โดยกลุ่มฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์มีเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดสูงกว่ากลุ่มฝึกไทชิและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
 
สรุปผลการวิจัย การฝึกมิราเคิลไทชิประยุกต์มีผลช่วยพัฒนาสุขสมรรถนะทางกายของผู้สูงอายุได้ดีกว่าการฝึกไทชิ จึงเหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกในการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้นต่อไป